Skip to main content

รีวิววิศวะคอม ม.เกษตร (บางเขน) ในปี 2022

· 10 min read

ปัญหาโลกแตกที่จะเรียกจุดนี้ว่าหน้าตึกหรือหลังตึก 😅

Disclaimer

บทความนี้จะรีวิวถึงการเรียน/ความเป็นอยู่กับการเรียนวิศวคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ดังนั้นผู้ที่ต้องการดูรีวิววิศวคอมในวิทยาเขตอื่น เช่น กำแพงแสน ศรีราชา บทความนี้อาจไม่เหมาะกับท่าน เพราะที่ทราบมาการเรียนการสอนในวิทยาเขตอื่นๆ ค่อนข้างต่างจากที่นี่พอสมควร

เท้าความ

เนื่องจาก ณ ตอนนี้ที่ผมเริ่มเขียนบทความนี้ขึ้น (เมษายน 2565) จะเป็นช่วงที่ใกล้เข้าสู่ TCAS รอบที่ 3 แล้วเราก็รู้อยู่ว่า รีวิวภาควิชาของเราเนี่ยล่าสุดมันก็ตั้งปี 63 แล้วนะ ซึ่งเราคิดว่ามันก็​ outdated พอสมควร อีกอย่างสำหรับผมคิดว่ารีวิวนั้นยังไม่ได้พูดด้านดีๆ เท่าที่ควร 😅 แต่ไม่ต้องห่วงครับ ผมจะนำเสนอแบบตรงไปตรงมา อันไหนดีว่าดี อันไหนแย่ก็ต้องด่า

รีวิว ล่าสุดเท่าที่เคยเห็น ( ตอนนี้คนเขียนก็กำลังขึ้นปี 4 แล้วล่ะ )

หลักสูตร

หลักสูตรที่ผมได้เรียนคือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปรับปรุง 2560 ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งตั้งแต่รุ่นรหัส 65 จะใช้หลักสูตรใหม่ ที่พยายามแก้ไขปัญหาที่นิสิตมักบ่นกันว่า ตอนปี 1 ได้เรียนวิชาภาคแค่ตัวเดียว ซึ่งหลายๆ มอเขาเอาวิชาภาคมาเริ่มเรียนกันหมดแล้ว

caution

หลายๆ คนพอได้ยินอย่างนี้แล้ว ก็ดีใจกันว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปได้แล้วจริงๆ แต่เท่าที่ทราบจากวงในมา วิชาเขียนแบบ แบบที่เรียนกับอาจารย์ของภาคเครื่องกล (เขียนแบบกับกระดาษ) หลักสูตรที่จะใช้นี้ ยังเป็นวิชาบังคับ อยู่นะครับ

info

แต่รับประกันครับว่าในปี 1 จะมีวิชาภาคให้เรียนมากกว่าแต่ก่อนแน่นอนครับ

สภาพสังคม

ไม่รู้ว่าหลายๆ คนคิดเหมือนผมไหม แต่ผมคิดว่าเพื่อนๆ หลายๆ คนเป็นคนที่ active พอสมควร เพราะคนที่เข้ามาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ก็ได้คะแนนดีๆ เข้ามากันทั้งนั้น (หลายๆ คนอาจพูดได้ว่าที่นี่คือคนที่อยากเรียนวิศวคอม แต่คะแนนไม่ถึง วศคอมฬ หรือไม่อยากเสี่ยงต้องไปเรียนภาครวมก่อน) ซึ่งผมค่อนข้างทึ่งถึงความสามารถของเพื่อนๆ ที่สอบเข้ามามาก เพราะผมเข้ามาเรียนที่นี่ด้วย โครงการโอลิมปิกวิชาการ (สอวน.) ซึ่งตัวผมเองพอมาเจอวิชาปี 1 ที่เป็นวิชาทั่วไป ที่ต้องเรียนกับภาคอื่นด้วย เช่น MATH1 PHY1 ผมมาเจอก็แตกไปตามระเบียบครับ 555

การเรียนการสอน

ในรีวิวนี้ผมจะพูดแบบคร่าว ละกัน โดยพูดเป็นภาพรวมเป็นปีๆ ไป โดยผมจะมาทำรีวิวเป็นรายๆ วิชาในอนาคตให้ครับ โดยจะยังอ้างอิงถึงหลักสูตรปี 60 อยู่นะครับ

ปี 1

ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาที่้ต้องเรียนกับนิสิตภาควิชาอื่น เช่น MATH1 PHY1 ภาษาไทย Art of living แต่จะยังมีอีก 1 วิชาที่ปราบเซียนสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรม ก็คือวิชา Computers and Programming (204111) ซึ่งวิชานี้เป็นวิชาบังคับสำหรับนิสิตวิศวะทุกคน แต่การเรียนการสอนสำหรับ sec ที่มีแต่ cpe แล้วนั้น จะใช้เนื้อหาที่เข้มข้นกว่าภาคอื่นๆ โดยที่นี่จะใช้ภาษา Python ในการเรียนการสอน ดังนั้นใครที่คิดว่าตัวเองพื้นฐานยังไม่แน่น ก็ไปฟิตมาก่อนเลยก็ได้ครับ (ผมจะมีรีวิวแบบละเอียดอีกทีให้ครับ)

ปี 1 ผมให้นิยามว่าเป็นปีที่ น่าเบื่อที่สุด เพราะเราแทบจะไม่ได้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สักเท่าไร แต่ในหลักสูตรใหม่ ผมหวังว่าจะทำให้นิสิตรู้สึกเบื่อหน่ายน้อยลงได้

ปี 2

พอขึ้นปี 2 เราจะได้เริ่มเรียนวิชาภาคแบบ แ น่ น ๆ กันมากขึ้น โดยเทอมต้นเราจะได้เริ่มเรียน วิชา Abstract Datatype & Algorithm , Logic Circuit, Discrete & Linear Algebra, Probability & Stat และก็จะมีวิชาที่เป็นวิชาของภาคไฟฟ้า ก็คือ Circuit analysis ซึ่งหลายๆ คน ที่เรียนไฟฟ้ามาอย่างช่ำชองก็น่าจะผ่านวิชานี้ไปได้อย่างง่ายๆ

พอเทอมปลายเราก็จะได้จับเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้น เช่นในวิชา การฝึกปฏิบัติทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เราจะได้ออกแบบแผงวงจร ได้ลองบัดกรีแผงวงจร อีกทั้งยังได้เริ่มเรียนรู้คำสั่งบน Unix ซึ่งเป็นพื้นฐานที่คนสายคอมจะต้องรู้และนำไปใช้ได้

ซึ่งปี 2 เทอมปลายเนี่ยหลายๆ คนถือว่า เป็นเทอมที่เหนื่อยที่สุด เพราะหลายๆ วิชาที่อยู่ในเทอมนี้จะค่อนข้างยาก และเยอะ ซึ่งผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยอยู่ทีเดียว

บรรยากาศการเรียนในห้อง Slope ชั้น 2 ที่ตึกภาควิชา

ปี 3

เนื่องจากผู้เขียนกำลังเข้าสู่การเรียนในชั้นปีนี้ ดังนั้นอาจไม่สามารถอธิบายได้เต็มที่มากนัก ต้องกราบขออภัยด้วยครับ

ปี 3 นั้นเราก็จะได้เรียนวิชาภาคที่จำเป็นต้องใช้ความรู้จากปี 2 มากขึ้น และก็จะมีวิชาที่เราจะต้องสร้างโครงงานซอฟต์แวร์ โดยจะได้จับกลุ่มกับเพื่อนซึ่งจะต้องมีการรายงานผลอยู่ทุกๆ สัปดาห์

ความน่าสนใจในการเรียนปี 3 อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะมีความรู้มากพอที่จะลงเรียนวิชาเลือกในภาควิชา โดยหน่วยตามหลักสูตรแล้วนั้น จะแนะนำให้ลงตั้งแต่ตอนเทอมปลายเป็นต้นไป โดยในแต่ละปีวิชาที่เปิดให้ลงทะเบียนจะแตกต่างกันออกไป โดยเราสามารถดูได้ว่าในแต่ละปีมีวิชาเลือกตัวไหนเปิดบ้างได้ที่ วิชาเลือกของหลักสูตร CPE

ซึ่งเมื่อนิสิตจบปี 3 แล้วนั้น ในช่วงปิดเทอมเราจะต้องไปฝึกงานข้างนอกมหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 60 วันโดยในขณะตอนที่เราอยู่ปี 3 เนี่ยก็ต้องเริ่มหาที่ฝึกงานกันตั้งแต่ตอนนี้ล่ะครับ ซึ่งในปีที่ผ่านๆ มา ก็จะมีนิสิตที่ได้ไปฝึกงานที่ต่างประเทศอยู่ทุกปีครับ (อาจารย์ที่นี่ contact ดีๆทั้งนั้นครับ ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่นแน่นอน)

ตัวอย่างบรรยากาศการเรียนในห้อง จากช่อง Youtube ของ อ.ชัยพร

ปี 4

เป็นปีสุดท้ายของการเรียน โดยในปีนี้เราจะสามารถมีแผนการเรียนได้ 2 แบบคือ

  • แบบทั่วไป (ไม่สหกิจ) คือตอนเทอม 1 ก็จะมาเรียนที่มหาลัยเหมือนปกติ
  • แบบสหกิจ คือตอนเทอม 1 เนี่ยเราจะต้องไปทำงานกับบริษัทหรือหน่วยงานข้างนอกมหาวิทยาลัย (คนละอย่างกับการฝึกงานภาคบังคับตอนจบปี 3 นะ) ซึ่งทางมหาลัยจะไม่อนุญาติให่เราลงเรียนวิชาอะไรเลยในช่วงนี้ โดยคนที่เรียนแบบสหกิจ ในช่วงเทอมที่ 2 ก็จะต้องมาเรียนวิชาที่อาจมากกว่าคนที่เรียนแบบทั่วไปนิดหน่อย

และการที่เราจะจบ เรียกตัวเองว่าเป็นบัณฑิตได้ ก็จะต้องทำ Project จบ ซึ่งเราสามารถเข้าไปตัวอย่างโครงงานของรุ่นพี่ปีก่อนๆ ได้ที่ รายการและสถานะโครงงาน แยกตามหลักสูตรและปีที่สำเร็จการศึกษา โดยเลือกไปที่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (CPE)

จุดเด่นของที่นี่

อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวสำหรับผู้เขียนเท่านั้น ที่คิดว่าที่นี่มี และดีกว่าวิศวคอมที่อื่นๆ ครับ

แลปปฏิบัติการที่สามารถเข้าได้ตั้งแต่อยู่ ปี 1

อาจารย์ในภาควิชาแทบจะทุกคน จะมีสังกัดห้องปฏิบัติการอยู่ ซึ่งอาจารย์ที่ประจำอยู่ในแลปดังกล่าว ก็จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ เป็นพิเศษ โดยตอนที่น้องๆ เข้ามาตอนปี 1 จะมีการพาทัวร์ชมห้องปฏิบัติทุกๆ ห้อง โดยหลายๆ แลปนั้นเปิดให้นิสิตเข้าไปหาความเพิ่มเติมได้ตั้งแต่อยู่ ปี 1 เลย โดยที่เรายังไม่ต้องมีความรู้อะไรเลยก็ได้ (ในบางแลป) ขอให้เราแค่มีความตั้งใจที่จะศึกษาจริงๆ ก็พอครับ

โดย List ห้องปฏิบัติการที่ยังมีอยู่ก็จะมีประมาณนี้ครับ (ดูแบบเต็มๆได้ที่ เว็บไซต์ของภาควิชา)

แลปปฏิบัติการจะมีประโยชน์มากในตอนที่ใกล้จะทำ Project จบ โดยส่วนใหญ่โปรเจคที่เราทำก็จะเกี่ยวข้องกับแลปที่เราสังกัดครับ

ชุมนุมนิสิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

โดยปกติ หากไม่มีสถานการณ์โควิด ทางชุมนุมก็จะเชิญรุ่นพี่ หรือศิษย์เก่ามาจัดอมรมเนื้อหานอกห้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ที่ในช่วงโควิดเราแทบจะไปมอไม่ได้เลย หวังว่าในปีนี้จะสามารถกลับมาจัดงานได้ตามปกติ

บรรยากาศกิจกรรม "พี่น้องแบ่งปันก้าวทันเทคโนโลยี"จาก เพจชุมนุมนิสิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

จำนวนนิสิตต่อปี

ต่อปีจะมีนิสิตอยู่ประมาณ 70-80 คน อาจมีหลุดไปบ้างในช่วงปี 2 ก็จะตกอยู่ประมาณ 60 ปลายๆ ถึง 70 ต้นๆ ซึ่งผมคิดว่าปริมาณนิสิตประมาณนี้มันกำลังโอเค ถึงแม้หลายๆ คนผมก็ยังไม่เคยจะได้คุยด้วยซ้ำ ซึ่งแตกต่างจากวิศวคอมที่อื้นที่ผมทราบมาว่าจำนวนคนต่อรุ่นจะเกิน 100 คนทั้งนั้น ซึ่งผมคิดว่ามันมากไปหน่อย

ข้อควรพิจารณาหากมาเรียนที่นี่

การบริหาร / นโยบายจากส่วนกลางค่อนข้างแย่

อย่างที่รีวิวก่อนหน้าได้บอก เรื่องการประสานงาน และนโยบายที่มาจากส่วนกลาง โคตร F*uck up จากประสบการณ์ตรงที่เคยขอเรื่องทุนตอนอยู่ปี 1 เรื่องการประชาสัมพันธ์นั้นค่อนข้างแย่ และการติดต่อประสานงานที่ทำได้ลำบาก ต้องเดินไปให้คนนู้นคนนี้เซ็นกว่าจะขออะไรบางอย่างได้ ซึ่งผมคิดว่าในหลายๆ มอเขาทำให้มัน seamless กว่านี้ได้

สัดส่วนวิชาภาค กับ วิชาทั่วไป

ตามรีวิวก่อนหน้า (อีกแล้ว) เราต้องเรียนวิชาที่ไม่จำเป็นเยอะมาก โดยเฉพาะวิชาบูรณาการ ที่กินหน่วยกิจของเราเยอะมาก แล้วเราต้องมานั่งจัดสรรวิชาพวกนี้ด้วย ซึ่งถ้าหากลงเรียนไม่ครบก็จบไม่ได้อีก ซึ่งตรงนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าหลักสูตรใหม่ได้มีการปรับจำนวนหน่วยกิจที่ต้องลงในวิชาบูรณาการ หรือยัง

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน

มอควรยกเลิกไอ้พวก Identity อะไรแบบนี้สักทีได้แล้ว เราเข้ามหาวิทยาลัยก็เพื่อมาเรียนในศาสตร์ที่เราสนใจจริงๆ ไออะไรแบบนี้ตัวผมไม่ได้มีความ Proud เลยสักนิด

เวลาปิดเทอม / เปิดเทอมไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขา

ม.เกษตร ตารางเรียนมันจะนำหน้าชาวบ้านอยู่ครึ่งเทอม ตรงส่วนนี้เคยถามอาจารย์ที่ปรึกษาว่าทำไมเขาไม่ยอมเลื่อนให้ตรงกัน อาจารย์ก็เลยบอกว่ามอเรามันมีหลายคณะที่มันต้องพึ่งพิงดินฟ้าอากาศ ทำให้เขาไม่ยอมเลื่อนกัน พอได้ฟังแล้วก็ถือว่าเป็นเหตผลที่เข้าใจได้ ซึ่งข้อเสียของการเปิดเรียนไม่เหมือนชาวบ้านก็คือการหาที่ฝึกงานครับ มันทำให้เราเสียโอกาสในบางครั้งไปได้

ส่งท้าย

น่าจะพอหอมปากหอมคอกับรายละเอียดของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนตัวผมแฮปปี้มากที่ได้เลือกเรียนที่นี่ ได้เจออาจารย์เก่ง ได้เจอเพื่อนดีๆ ได้รับโอกาสต่างๆ ที่ถ้าเราเข้ามออื่นๆ อาจไม่ได้แบบนี้ เดี๋ยวบทความหน้าผมกะจะมาเจาะลึกพวกวิชาต่าง ที่ต้องเรียนกันครับ หวังว่าคนที่เข้ามาอ่านจะได้ข้อมูลที่ต้องการนะครับ โดยหากต้องการสอบถามอะไรเพิ่มเติม ก็สามารถหลังไมค์มาได้ครับ